ลัดดา (สารตายน) ศิลปบรรเลง

Identity area

Type of entity

Person

Authorized form of name

ลัดดา (สารตายน) ศิลปบรรเลง

Parallel form(s) of name

  • Ladda (Saratayon) Silapabanleng

Standardized form(s) of name according to other rules

Other form(s) of name

Identifiers for corporate bodies

Description area

Dates of existence

1920 - 2013

History

ผลงานสมัยเริ่มแรก
สมัยเป็นนักเรียนโรงเรียนนาฏดุริยางค์ กรมศิลปากร ครูลัดดาได้รับเลือกจากหลวงวิจิตรวาทการให้ขึ้นเวทีเล่นละครตั้งแต่เป็นนักเรียนจนกระทั่งเป็นครูของโรงเรียนนาฏดุริยางค์ ได้เคยเดินทางไปแสดงศิลปวัฒนธรรมไทยที่ประเทศญี่ปุ่นและแมนจูเรีย เมื่อ พ.ศ. 2477 พร้อมกับคุณหญิงประภาพรรณ วิจิตรวาทการ และคุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง การแสดงที่ญี่ปุ่นนั้นเดินทางไปตามหัวเมืองสำคัญต่างๆ ประสบความสำเร็จอย่างมาก

เมื่อกลับมาจากญี่ปุ่น นับได้ว่า ครูลัดดา สารตายน เป็นดาราผู้มีชื่อเสียงมากที่สุดในการแสดงละครของหลวงวิจิตรวาทการในยุคนั้น รับบททั้งพระเอกนางเอก ปรากฏอยู่ในข้อมูลการแสดงละครของหลวงวิจิตรวาทการแทบทุกเรื่อง เช่น เลือดสุพรรณ, เจ้าหญิงแสนหวี, พ่อขุนผาเมือง ฯลฯ นอกจากนั้น ยังได้รับเลือกให้ขับร้องเพลงไทยและเพลงปลุกใจในแผ่นเสียงครั่งสมัยก่อนเป็นที่นิยมของผู้ฟัง

Places

Legal status

Functions, occupations and activities

ก่อตั้งคณะละครผกาวลีและกำกับการแสดงภาพยนตร์
เมื่อลาออกจากกรมศิลปากร หลังจากที่แต่งงานแล้ว ประมาณ พ.ศ. 2485 ได้ร่วมกับครอบครัวศิลปบรรเลงก่อตั้งคณะละครเวทีชื่อ “คณะศิษย์เก่าศิลปากร” แสดงละครเรื่อง “ผกาวลี” จากความสำเร็จของละครเรื่องนี้ ต่อมาจึงเป็นผลให้เปลี่ยนชื่อคณะละครเป็นผกาวลีในที่สุด และได้จัดการแสดงละครเวทีอีกหลายเรื่องที่เวทีเฉลิมไทย เฉลิมนคร โดยครูลัดดาทำหน้าที่เป็นผู้กำกับการแสดงทุกเรื่องและแสดงเองเป็นบางเรื่อง เช่น เจ้าหญิงเวียงฟ้า, เกียรติศักดิ์รักของข้า, แม็คเบ็ธ

ที่คณะละครผกาวลีนี้เอง เป็นต้นกำเนิดของศิลปินที่มีชื่อเสียงต่อมาหลายท่าน ทั้งการขับร้องและการแสดง เช่น สวลี ผกาพันธ์, อุโฆษ จันทร์เรือง, ชูศรี โรจนประดิษฐ์, วลิต สนธิรัตน์, อดิศักดิ์ เศวตนันท์, ส.อาสนจินดา เป็นต้น ศิลปินเหล่านี้ในภายหลังได้สร้างสรรค์ผลงานแก่สังคมมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยแรงบันดาลใจที่ได้ต้นแบบมาจากครูลัดดา

เมื่อการแสดงละครเวทีต้องหยุดชะงักลงเพราะไม่สามารถจะแข่งขันกับภาพยนตร์ที่เข้ามาจากต่างประเทศได้ ศิลปินไทยจึงต้องหันไปทำงานอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เริ่มตั้งแต่ ภาพยนตร์ 16 ม.ม. จนถึง 35 ม.ม. ครูลัดดาได้รับเชิญให้เป็นผู้กำกับการแสดงภาพยนตร์ 35 ม.ม. เรื่อง “ขบวนเสรีจีน” โดยมีสวลี ผกาพันธ์ เป็นนางเอก และครูลัดดายังเป็นผู้แต่งเนื้อร้องเพลงเอกประจำภาพยนตร์เรื่องนี้คือ “ ..” โดยมีครูประสิทธิ์ ศิลปบรรเลงเป็นผู้แต่งทำนองและเรียบเรียงเสียงประสาน

ก่อตั้งโรงเรียนผกาวลีนาฏดุริยางค์และจัดการแสดงนาฏศิลป์ไทย
เมื่อเสร็จสิ้นสงคราม มีชาวต่างประเทศสนใจเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมาก ครูลัดดาร่วมกับครอบครัวศิลปบรรเลงจัดการแสดงวิพิธทัศนาให้ชาวต่างประเทศชมที่บ้านศิลปบรรเลง กิจกรรมที่อยู่ในการแสดงประกอบไปด้วยการจับระบำต่างๆ มีทั้งโขนละคร การแสดงศิลปป้องกันตัว การดนตรี โดยครูลัดดาเป็นผู้ออกแบบท่ารำและจัดเตรียมชุดการแสดงต่างๆ โดยเน้นความกระชับ สามารถเข้าใจได้โดยง่าย มีการอธิบายเป็นภาษาอังกฤษทั้งสูจิบัตรและบรรยายสดให้ผู้ชมต่างประเทศสามารถเข้าถึงความงามและคุณค่าที่ปรากฏอยู่ในการแสดงนั้น นักแสดงที่ร่วมงานมาจากคณะศิาย์ครูลัดดาที่เคยศึกษาอยู่โรงเรียนนาฏดุริยางค์ กรมศิลปากร ลูกหลานในครอบครัว และศิษย์ท่านครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) รวมทั้งผู้สนใจในอาชีพทางนาฏศิลป์มาสมัครเป็นนักเรียนที่โรงเรียนผกาวลีนาฏดุริยางค์ นักแสดงเหล่านี้ ในภายหลังได้เป็นกำลังสำคัญในการสอนวิชานาฏศิลป์และดนตรีไทยในสถาบันการศึกษาต่างๆทั้งในและต่างประเทศ

ร่วมก่อตั้งมูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)
ในปี พ.ศ. 2524 เป็นปีครบรอบ 100 ปีเกิดท่านครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ครูลัดดา ได้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ และยังคงเป็นที่ปรึกษาอยู่จนถึงปัจจุบัน การดำเนินงานของมูลนิธิฯในทุกครั้ง ครูลัดดาเป็นผู้มีส่วนสนับสนุน ร่วมกิจกรรมการสืบสานดนตรีไทย เช่น เป็นกรรมการตัดสินการประกวดดนตรีศรทอง เป็นผู้ให้สนับสนุนทุนทรัพย์ในการจัดงานมหกรรมดนตรีศรีรัตนโกสินทร์ฉลอง 120 ปี ท่านครูหลวงประดิษฐไพเราะที่โรงละครแห่งชาติและให้การสนับสนุนในการจัดพิธีไหว้ครูทุกๆปี ผลสำเร็จด้านหนึ่งที่เป็นที่ประจักษ์ของสังคมไทยคือ การดำเนินงานสืบสานศิลปวัฒนธรรมดนตรีไทยของมูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ได้ทำให้เยาวชนไทยหันมาสนในศึกษาและสืบทอดดนตรีไทยอย่างจริงจัง นอกเหนือไปจากการสนับสนุนของภาครัฐ เป็นเรื่องที่น่าภูมิใจสำหรับผู้อยู่เบื้องหลังเช่นครูลัดดา
เป็นที่ปรึกษามูลนิธิสด-เนียน กูรมะโรหิต

เนื่องจากครูลัดดาและครูประสิทธิ์ ศิลปบรรเลง มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับคุณสดและคุณเนียน กูรมะโรหิตในการทำงานละครหลายเรื่อง จึงได้รับเชิญเป็นที่ปรึกษาของมูลนิธิสด-เนียน กูรมะโรหิต และทุกปีที่ทางมูลนิธิฯนี้ทำบุญในเดือนกุมภาพันธ์ จะมีการแสดงผลงานเพลงของครูประสิทธิ์และครูลัดดา ศิลปบรรเลงเพื่อเป็นเกียรติ
เป็นแหล่งวิชาความรู้ทางด้านศิลปการแสดง

ความรู้ของครูลัดดาที่สั่งสมมาตลอดชีวิต เป็นความรู้ที่พัฒนาจากรากฐานเดิมและสร้างสรรค์ใหม่ ไม่เพียงแต่การถ่ายทอดในอดีตที่กระทำต่อเนื่องมา เป็นบ่อน้ำทางปัญญาให้นิสิตนักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาต่างๆเข้ามาตักตวงเรียนรู้ มาเก็บข้อมูลเพื่อทำงานวิจัย งานวิทยานิพนธ์ที่เกี่ยวข้องกับด้านศิลปการแสดง แม้กระทั่งผลงานภาพยนตร์ไทยที่มีชื่อเสียงที่สุดเรื่องในปี 2547 คือ “โหมโรง” ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากชีวิตของท่านครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ทางฝ่ายผู้สร้างและผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ยังได้รับกำลังใจและคำแนะนำที่ดีในหลายๆด้านจากครูลัดดาและครอบครัว รวมทั้งให้ยืมเครื่องดนตรีต้นแบบซึ่งเคยเป็นสมบัติของตระกูลไปใช้เข้าฉากในภาพยนตร์ด้วย

การเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมภายในประเทศ
เมื่อจัดตั้งโรงเรียนผกาวลีนาฏดุริยางค์ ได้จัดให้นักเรียนได้แสดงนาฏศิลป์และดนตรีไทยให้ชาวต่างประเทศชมที่โรงละครในบ้านศิลปบรรเลง ต.บ้านบาตร อ.ป้อมปราบศัตรูพ่าย พระนคร โรงละครแห่งนี้เป็นเสมือนห้องรับแขกต้อนรับอาคันตุกะที่มาเยือน มีห้องอาหาร มีบรรยากาศทางศิลปวัฒนธรรมให้สัมผัส มีการแสดงสดๆที่สามารถสื่อสารกับผู้ชมได้ใกล้ชิด ทำให้เป็นที่ประทับใจเล่าขานกันในบรรดาชาวต่างประเทศที่มารู้จักประเทศไทยในเวลานั้น ห้องรับแขกทางวัฒนธรรมนี้ ได้เคยต้อนรับบุคคลสำคัญหลายท่าน อาทิ เจ้าชาย ฮวน คาลอส มกุฏราชกุมารแห่งราชอาณาจักรสเปน และเจ้าหญิงโซเฟีย พระชายา, เอ็ดเวิร์ด จี.โรบินสัน, แอน แบ็กสเตอร์ ดาราภาพยนตร์จาก ฮอลลีวู๊ด, ริชาร์ด นอยตรา และบักมินสเตอร์ ฟูลเลอร์ สถาปนิกโลก รวมทั้งยังมีบุคคลสำคัญทางเศรษฐกิจการเมืองสังคมอีกหลายท่านที่เคยมาเยี่ยมชมการแสดงของคณะนาฏศิลป์ผกาวลี ภาระหน้าที่ของครูลัดดาในเวลานั้น เสมือนกัปตันผู้คุมหางเสือเรือทางวัฒนธรรมในภาคเอกชน ซึ่งเหนื่อยยากลำบากทำงานปิดทองหลังพระเพื่อประเทศชาติโดยที่ภาครัฐบาลไม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญเช่นนี้มาก่อน นอกจากจะเป็นห้องรับแขก ยังเป็นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรมกับมิตรประเทศ เช่น สถาบันนาฏศิลป์ซาคากิบาราแห่งกรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่น เคยส่งคณะนาฏศิลป์มาแลกเปลี่ยนความรู้กับนักแสดงชาวไทย และจัดการแสดงร่วมกันในภายหลัง
การเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมภายนอกประเทศ

เมื่อคณะนาฏศิลป์ผกาวลีมีชื่อเสียงจากกิจกรรมการแสดงทางศิลปวัฒนธรรม จึงได้มีผู้สนใจเชื้อเชิญให้ทางคณะออกเดินทางไปเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมในต่างประเทศหลายครั้ง เริ่มต้นจากองค์กรการศึกษาและวัฒนธรรมแห่งสหประชาติ ยูเนสโก ติดต่อให้เดินทางไปเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมใน พ.ศ. 2505 โดยเดินทางไปทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกา และต่อมา องค์กรวัฒนธรรมแห่งอเมริกาใต้ เชิญให้เดินทางอีกครั้งในปี 2513 ทั้งสองครั้งที่เดินทาง ครูลัดดาและครูประสิทธิ์ ศิลปบรรเลง ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการ ผู้ออกแบบท่ารำ ผู้ฝึกซ้อม ผู้ประสานงาน ควบคุมดูแลศิลปินในคณะให้เดินทางและแสดงได้อย่างประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี การเดินทางครั้งแรก ประเทศที่เดินทางไปได้แก่ เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ค นอร์เวย์ สวีเดน อังกฤษ และสหรัฐอเมริกาซึ่งเดินทางตระเวนไปกว่า 30 รัฐ รวมเวลาทั้งสิ้นในยุโรปและสหรัฐอเมริกา 2 เดือน การเดินทางครั้งที่สอง เดินทางไปในอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ ประเทศที่ไปเยือนได้แก่ บราซิล ชิลี อาร์เจนตินา อุรุกวัย เปรู และในสหรัฐอเมริกา รวมเวลาทั้งสิ้นในการเดินทางครั้งนี้กว่า 5 เดือนเศษ เส้นทางการเดินทางในอดีตนั้น ระบบคมนาคมและการสื่อสารแตกต่างจากในปัจจุบันมาก ต้องใช้ยานพาหนะหลายรูปแบบ ทั้งการบิน การนั่งรถไฟ รถบัส เพื่อให้ไปถึงสถานที่แสดง ต้องขนอุปกรณ์การแสดงและเครื่องดนตรีไปอย่างรัดกุม ออกแบบบรรจุหีบห่ออย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ร่วมเดินทางทุกคนต้องมีความสามารถในทางจัดการเพื่อการแสดงอย่างรวดเร็ว เป็นทีมเวิร์คที่มีคุณภาพมาก ประสบการณ์ในการเดินทางและการแสดงของครูลัดดาและคณะผกาวลีแม้จนทุกวันนี้ยังเป็นเรื่องที่น่าศึกษาสำหรับผู้สนใจ ผลของการเดินทางเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมต่างประเทศ ทำให้ผู้คนที่ได้ดูชมการแสดงหรือแม้กระทั่งทราบข่าวคราวประชาสัมพันธ์ ได้รู้จักและชื่นชมคนไทย ซาบซึ้งในความงามของดนตรีนาฏศิลป์ไทยที่ถ่ายทอดผ่านคณะผกาวลี ทุกเวทีที่ได้แสดงจบลงด้วยเสียงปรบมือดังสนั่นและความเข้าใจอันดีต่อศิลปวัฒนธรรมไทยที่น่าภาคภูมิใจยิ่ง

Mandates/sources of authority

Internal structures/genealogy

General context

Relationships area

Access points area

Subject access points

Place access points

Occupations

Control area

Authority record identifier

Institution identifier

Rules and/or conventions used

Status

Level of detail

Dates of creation, revision and deletion

Language(s)

Script(s)

Sources

Maintenance notes

  • Clipboard

  • Export

  • EAC

Related subjects

Related places